ด้านกิจกรรมนิสิต หลายหน่วยงานได้สร้างกิจกรรมเพื่อให้นิสิตได้นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้อย่างเป็นรูปธรรม
เช่นโครงการกรุงไทยต้นกล้าสีขาว
ที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีร่วมกับมูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด
สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และ บมจ.ธนาคารกรุงไทย
จัดกิจกรรมที่มุ่งปลูกฝังความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดในการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรมและเศรษฐกิจพอเพียงแก่กลุ่มนิสิตนักศึกษา
ที่สมัครเข้าร่วมโครงการ
ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2550 มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการจากทุกภาคทั่วประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
จากปีแรกสมัคร 53 สถาบัน
348 ทีม 2,088 คน ปีที่สอง 71 สถาบัน 519 ทีม 3,114 คน ปีที่สาม 73 สถาบัน 623 ทีม 3,738 คน
นิสิตจะได้ผ่านกระบวนการทดสอบความรู้
ได้รับการอบรมจากวิทยากรและผู้ทรงคุณวุฒิ รวมทั้งสร้างโครงการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม
ภายใต้หลักเศรษฐกิจพอเพียงเข้าประกวด
ทีมที่ได้เข้ารอบชิงชนะเลิศจะต้องดำเนินโครงการตามที่เสนอ ส่งรายงาน จัดบูธ โปสเตอร์
และนำเสนอโครงการ นิสิตจะได้แสดงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
ฝึกหัดการใช้ภาษาสื่อสาร การทำงานเป็นทีม ตัวอย่างโครงการดีเด่นในปี 2552 เช่น
การสร้างโรงเลี้ยงไหมอีรี่ชุมชนบ้านสองห้องของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม การนำหม้อฮ่อมมาใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ
ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
การวางรากฐานวิสาหกิจชุมชนบ้านธูปหอม ให้พึ่งพาตนเองได้ และลดต้นทุนการผลิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น
นิสิตทีม Chula SIFE ซึ่งเป็นองค์กรที่ดำเนินการโดยนิสิตจุฬาฯ มีวัตถุประสงค์หลักในการพัฒนาสังคมและชุมชนอย่างยั่งยืน
โดยเปิดโอกาสให้นิสิตได้นำความรู้ความสามารถ และประสบการณ์จากทั้งในและนอกห้องเรียนมาประยุกต์ใช้สร้างประโยชน์สู่ชุมชน
ผ่านโครงการต่างๆ
ซึ่งในปี 2552 มีทั้งสิ้น 3 โครงการได้แก่ โครงการ Soil Booster เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถลดต้นทุน เพิ่มรายได้จากการทำปุ๋ยหมักออกจำหน่าย
และรักษาสภาวะแวดล้อมในบริเวณที่เกษตรกรอยู่อาศัย โครงการ Wealth Harvesting
เพื่อให้ความรู้แก่เกษตรกรเกี่ยวกับการเงิน การลดหนี้สิ้น
การวางแผนด้านการเงินและการลงทุน เรียนรู้การทำบัญชี และการออมเงิน
เพื่อให้มีเงินเหลือใช้ถึงวัยเกษียณ และโครงการ Ingredients of Knowledge
เพื่อช่วยให้มูลนิธิชัยพฤกษ์ซึ่งช่วยเหลือเด็กกำพร้า
สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างและพัฒนาตลาดเบเกอรี่ที่ยั่งยืน
สามารถอยู่ได้ด้วยตนเองโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพา
เงินบริจาคเท่านั้น โครงการทั้ง 3 ทำให้นิสิตทีม Chula SIFE
ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันระดับโลก
ที่ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน
นิสิตคณะนิเทศศาสตร์ทำโครงการเฉลียวดินเพื่อแก้ปัญหาดินเค็มในพื้นที่ตำบลขามทะเลสอ อำเภอขามทะเลสอ จังหวัดนครราชสีมา
ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีผลผลิตทางการเกษตรที่ดีขึ้น โครงการเฉลียวดินนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดโครงการ CSR Plan Competition Project
ซึ่งมูลนิธิรักษ์ไทยและอุทยานการเรียนรู้ TK Park จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ "ความรับผิดชอบต่อสังคมที่มีให้แก่ชุมชน" มีจุดมุ่งหมายในการแก้ปัญหาดินเค็ม
ซึ่งทำให้เกษตรกรในพื้นที่ไม่สามารถเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้อย่างเต็มที่ ส่งผลกระทบต่อรายได้ที่ลดลง โครงการนี้จึงเอื้อประโยชน์ต่อเกษตรกรโดยตรง
และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง เป็นการสร้างจิตสำนึกให้เยาวชนรู้จักการช่วยเหลือคนในชุมชนท้องถิ่น ได้สัมผัสการดำเนินชีวิตของชาวบ้าน
โดยนิสิตต้องศึกษาค้นคว้าข้อมูลจากแหล่งต่างๆ รวมทั้งต้องลงพื้นที่จริงที่จังหวัดนครราชสีมาเป็นเวลานานนับเดือน
เพื่อจะได้รับรู้ถึงปัญหาดินเค็มที่ชาวบ้านกำลังประสบอยู่ด้วยตนเอง ซึ่งที่ผ่านมาปัญหานี้ยังไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจัง
นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์และคณาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธาได้ร่วมกันก่อสร้างสะพานข้ามลำน้ำลาง
โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนชมรมอนุรักษ์พุทธศิลปะไทยอนุสรณ์ อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นสะพานแขวนฐานคอนกรีตเสริมเหล็ก
โครงสร้างเป็นเสาเหล็กและยึดรั้งด้วยลวดสลิง พื้นสะพานเป็นโครงสร้างเหล็กปูทับด้วยไม้เนื้อแข็ง มีราวสะพานป้องกันอุบัติเหตุ มีบันไดทางขึ้นลงสะพาน
โครงการนี้ดำเนินการตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อให้ราษฎรในหมู่บ้านและนักเรียนใช้สัญจรระหว่างสองฝั่งลำน้ำ
สามารถดำเนินชีวิตตามวิถีพอเพียงได้โดยสะดวกขึ้น
ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ยังได้จัดกิจกรรมให้นิสิตได้ฝึกงานโดยร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ
จัดทำโครงการปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานและสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีสะอาด
ซึ่งมีเครือข่ายที่ได้ดำเนินงานมาถึงปีที่ 9 แล้ว ผลงานที่ผ่านมานั้นนับว่าเป็นประโยชน์ต่อพัฒนาการของนิสิต
เกิดการเชื่อมโยงความรู้ในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติเข้าด้วยกัน นิสิตได้ฝึกงาน เรียนรู้และฝึกทักษะหลักการเทคโนโลยีสะอาด
เทคนิคการตรวจประเมินเบื้องต้นและการตรวจประเมินละเอียด ความรู้พื้นฐานด้านพลังงานกลและความร้อนและแนวทางลดการสูญเสีย
ความรู้พื้นฐานด้านไฟฟ้าและแนวทางประหยัดพลังงานและต้นทุน
|