นวัตกรรมผลงานวิจัยจุฬาฯสู่ชุมชน จ.น่าน
 

 
คณะวิจัยจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ นำโดย รศ.นสพ.ดร.วิชัย ทันตศุภารักษ์ และ ศ.นสพ.ดร.มงคล เตชะกำพุ ร่วมมือกับ กศน.เมืองน่าน
ในโครงการกองทุนหมูอินทรีย์ ประจำหมู่บ้าน ซึ่งผลการดำเนินงาน๔ เดือนแรกช่วยเพิ่มผลผลิตลูกหมูให้เกษตรกร จากสุกร แม่พันธุ์ ๑๐ ตัว
ที่ผ่านการผสมเทียมให้ผลผลิตลูกหมูมีชีวิต ๗๗ ตัว เกษตรกรมีรายได้จากการจำหน่ายหมู ครอกแรก ๑๒๖,๐๐๐ บาท หรือมีรายได้เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย รายละ ๑๔,๐๐๐ บาท
เกษตรกรตามโครงการหมูอินทรีย์มีผลกำไรจากการจำหน่ายหมูเฉลี่ยตัวละ ๒,๐๐๐ บาท ผลสำเร็จของโครงการฯมีส่วนในการ สร้างรายได้แก่เกษตรกรเพิ่มขึ้น
และส่งเสริมความรู้ในการเลี้ยงหมูอย่างถูกสุขลักษณะ
 

 
“น้ำมัน” จากยางและพลาสติกใช้แล้ว ผลงานช่วยชาติในยามวิกฤติ โดยวิทยาลัยปิโตรเลียม จุฬาฯ
 
 ผศ.ดร.ศิริรัตน์ จิตการค้า  อาจารย์ประจำวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี เจ้าของงานวิจัย
“การผลิตเชื้อเพลิงเหลวจาก ขยะพลาสติกและยาง โดยใช้กระบวนการไพโรไลซิส”
มองว่าน่าจะมีพลังงานทดแทนอย่างอื่นนอกจาก ไบโอดีเซล และประเทศเราก็มีปัญหาทางด้านขยะ
และจากการศึกษาปริมาณขยะพลาสติกในพื้นที่นำร่องพบว่า บริเวณกรุงเทพมหานคร
มีขยะพลาสติกราว 6 แสนตัน/ปี บริเวณเขตเทศบาลสมุทรปราการมีปริมาณ
4 พันตัน/ปี และจังหวัดนครปฐมมีปริมาณเกือบ 1 หมื่นตัน/ปี การนำไปเผาทิ้งหรือฝังกลบก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา
มากนัก หรือขยะจำพวกยาง แม้จะนำไปทำรองเท้าหรือกระถางต้นไม้ แต่ถึงที่สุดแล้วก็กลับไปเป็นขยะเช่นเดิม
จึงน่าจะมีวิธีการที่ดีกว่า

          หลักการในการผลิตน้ำมันด้วยวิธีนี้คือจะเผายางหรือพลาสติกนั้นโดยไม่ใช้ออกซิเจน
ผลิตภัณฑ์ที่ได้ออกมาจะได้น้ำมันที่มีคุณสมบัติเหมือน น้ำมันเตา ซึ่งทั้งน้ำมันพลาสติกและยางต่างก็เป็น
สารประกอบไฮโดรคาร์บอน (Hydrocarbon)  แต่แตกต่างกันที่ความยาวของสายโซ่ของ สารประกอบ
ยางและพลาสติกเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากสารมอนอเมอร์ (Monomer) ของปิโตรเลียมและปิโตรเคมี

          สำหรับการผลิตเชื้อเพลิงจากยางหรือพลาสติกนี้ ผศ.ดร.ศิริรัตน์ กล่าวว่าเป็นวิธีที่หลายประเทศทำอยู่แล้ว ซึ่งบางประเทศให้ความสำคัญ
และบางประเทศก็มองข้ามไปเนื่องจากไม่คุ้มทุน แต่บางประเทศอย่างไต้หวันสามารถผลิตน้ำมันจากยางที่มีประสิทธิภาพคือได้เป็นน้ำมันเบนซิน
ถึง 50 เปอร์เซ็นต์  ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือบริษัทเอกชนในการลงทุน

          ทั้งนี้การผลิตน้ำมันจากขยะทั้งหลายของ ผศ.ดร.ศิริรัตน์นี้ มุ่งที่จะพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาที่จะช่วยปรับปรุงคุณภาพของน้ำมันที่ได้จากขยะ
ให้ดีขึ้น และที่ไต้หวันสามารถผลิตน้ำมันเบนซินเนื่องจากสามารถผลิตตัวเร่งปฏิกิริยาที่มีคุณภาพและเป็นความลับที่ไม่เปิดเผย
ซึ่งผศ.ดร.ศิริรัตน์ก็กำลังพยายามพัฒนาเพื่อที่จะได้น้ำมันที่มีคุณภาพมากขึ้น  ซึ่งในการพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาของ ผศ.ดร.ศิริรัตน์มีอยู่ 2 วิธี
ีคือ 1. สังเคราะห์ขึ้นมาเอง และ 2. นำตัวเร่งปฏิกิริยาที่มีมาดัดแปลงโดยการเพิ่มธาตุต่าง ๆ ในตารางธาตุลงไป

          เมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา ผศ.ดร.ศิริรัตน์ได้ลองใช้ซูเปอร์เอซิด (Super acid)  หรือสารประกอบออกไซด์ของกรดยิ่งยวด
ผสมลงไปในน้ำมันที่ได้จากการเผายาง ซึ่งได้น้ำมันที่มีคุณสมบัติดีขึ้น จากน้ำมันเตาได้น้ำมันที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำมันดีเซลและได้แก๊สโซลีน
เพิ่มขึ้น อีกทั้งน้ำมันที่ผลิตขึ้นได้นี้ยังสามารถนำไปใช้ได้จริงกับเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซล แต่ยังไม่เหมาะสมที่จะนำไปใช้กับรถยนต์เพราะต้องมี
การพัฒนาคุณสมบัติต่อไป
 

 
นักวิจัยจุฬาฯ คิดค้นนวัตกรรมผลิตเอทานอลบริสุทธิ์ ด้วยแผ่นเยื่อบางซีโอไลท์ชนิดโซเดียม – เอ
 
 “แก๊สโซฮอล์”เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่เป็นส่วนผสมระหว่างเอทิลแอลกอฮอล์หรือเอทานอลที่มีความบริสุทธิ์ร้อยละ ๙๙.๕ ขึ้นไปผสมกับน้ำมันเบนซิน
ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นพลังงานทางเลือกทดแทนน้ำมันเบนซิน มีข้อดีคือมีโครงสร้างทางเคมีของแอลกอฮอล์ทำให้การเผาไหม้สมบูรณ์ สามารถช่วย
ลดมลพิษทางอากาศได้ และมีราคาถูกกว่าน้ำมันเบนซินทั่วไป

     รศ.สุจิตรา วงษ์เกษมจิตต อาจารย์ ประจำวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาฯ หนึ่งในคณะวิจัยที่คิดค้น
นวัตกรรมการผลิตเอทานอลบริสุทธิ์เท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ ๙๙.๕ โดยการใช้แผ่นเยื่อบางซีโอไลท์
ชนิดโซเดียม - เอ
  กล่าวว่า เอทานอลเป็นพลังงานทดแทนชนิดหนึ่งที่ประเทศไทยสามารถผลิตเองได้จากการหมักและ
กลั่นผลิตผลทางการเกษตร เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ฯลฯ โดยเริ่มแรกได้ผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิงในสัดส่วนร้อยละ ๕
หรือ เรียกว่าแก๊สโซฮอล์ E5 ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายที่จะผลิตแก๊ส โซฮอล์ E20 คือ ผสมเอทานอลบริสุทธิ์ในน้ำมันร้อยละ
๒๐ เอทานอลบริสุทธิ์จึงมีความสำคัญต่อประเทศในด้านพลังงาน มากขึ้นทุกวัน หากสามารถผสมลงในน้ำมันในสัดส่วนที่
ยิ่งมาก ก็จะยิ่งช่วยลดปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศได้ นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรไทย และทำให้
เงินตราหมุนเวียนอยู่ในประเทศอีกด้วย ส่วนประเทศอื่นๆก็มีการตระหนักถึงความสำคัญของเอทานอลบริสุทธิ์มากขึ้น โดย
เฉพาะสหรัฐอเมริกา ที่มีนโยบายว่าในอนาคตจะใช้เอทานอลบริสุทธิ์แทนน้ำมันเชื้อเพลิง และประเทศบราซิลก็มีการใช้
แก๊สโซฮอล์ E100
ซึ่งก็คือเอทานอลบริสุทธิ์อย่างเดียว

     รศ.สุจิตรา กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานผลิตเอทานอลที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติให้ผลิตเอทานอล
เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงทั้งสิ้น ๔๕ โรงงาน มีกำลังผลิตรวมประมาณ ๑๑ ล้านลิตรต่อวันซึ่งยังไม่เพียงพอต่อความต้องการที่มีอย่างน้อย ๑๕ ล้านลิตรต่อวัน
วิธีการผลิตที่นิยมใช้คือการกลั่น โดยนำเอทานอลที่ได้จากการหมักผลิตผลทางการเกษตรซึ่งมีความบริสุทธิ์ร้อยละ ๑๒ มากลั่นด้วยพลังงานค่อนข้างสูง
จนได้ความบริสุทธิ์ร้อยละ ๙๕.๕ ซึ่งสามารถนำไปใช้ในโรงงานผลิตสุราหรือผลิตสารปิโตรเคมีได้ แต่ยังไม่สามารถผสมในน้ำมันเชื้อเพลิงได้ เนื่องจาก
ต้องมีความบริสุทธิ์อย่างน้อยร้อยละ ๙๙.๕ โรงงานจึงต้องทำการกลั่นซ้ำ ทำให้ต้องใช้พลังงานเพิ่มขึ้น บางโรงงานจะใช้สารเคมีบางชนิดดูดซับน้ำจาก
เอทานอล แต่สารชนิดนี้มีราคาแพงและต้องใช้พลังงานความร้อนในการแยกน้ำ

     รศ.สุจิตรา กล่าวถึงงานวิจัยดังกล่าวว่าการผลิตเอทานอลบริสุทธิ์เท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ ๙๙.๕ โดยการใช้แผ่นเยื่อบางซีโอไลท

ชนิดโซเดียม - เอ
ถือเป็นนวัตกรรมสำหรับประเทศไทย แต่มีใช้อยู่แล้วในประเทศญี่ปุ่นและจีนโดยแผ่นเยื่อบางดังกล่าวสามารถสังเคราะห์ขึ้นมา
เองจากสารตั้งต้นคือซิลิกาและอะลูมิน่า ซึ่งหาได้ในประเทศไทยและมีราคาถูก แผ่นเยื่อบางที่ได้จะมีความทนทานใช้ได้นานและใช้ซ้ำได้หลายครั้ง
จากการทดลองสามารถผลิตเอทานอลบริสุทธิ์ ได้เฉลี่ยร้อยละ ๙๙.๗ และมีหลายครั้งที่ผลิตได้ถึงร้อยละ ๑๐๐ ทำให้ เอทานอล บริสุทธิ์ที่ได้เหลือ
ปริมาณน้ำอยู่น้อยมาก ประมาณร้อยละ ๐.๑ เท่านั้น จึงไม่มีอันตรายต่อเครื่องยนต์ แม้จะใช้เป็น E100 เหมือนประเทศบราซิล
ก็ตาม วิธีการนี้สามารถ
ประหยัดพลังงาน ได้ประมาณ ๓ - ๗ เท่า เมื่อเทียบกับวิธีการผลิตเอทานอลบริสุทธิ์ที่ใช้ในปัจจุบัน ขณะนี้งานวิจัยยังอยู่ในระดับห้องปฏิบัติการ ที่
ผ่านมา มีเจ้าของธุรกิจหลายรายที่สนใจจะนำชุดแผ่นเยื่อบางนี้ไปใช้จริง  ผลงานวิจัยนี้ยังต้องมีการปรับปรุงผลงานเพื่อใช้ในระดับงานอุตสาหกรรม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีเตรียมแผ่นเยื่อบางและสร้างปฏิกรณ์สำหรับแยกน้ำให้มีขนาดใหญ่ขึ้น รวมทั้งต้องสร้างปฏิกรณ์สำหรับสร้างแผ่นเยื่อบาง 

     สำหรับการต่อยอดงานวิจัยในอนาคต รศ.สุจิตรา กล่าวว่า มีแนวคิดที่จะนำแผ่นเยื่อบางดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ เช่น ใช้ในการแยกน้ำ
ออกจากน้ำเสียซึ่งมีสารอินทรีย์อยู่จำนวนมาก เป็นต้น นอกจากนี้จะทำการวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับบิวทานอล ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ที่ได้จากการหมักวัสดุ
ทางเกษตรเช่นเดียวกับเอทานอล แต่มีจุดเดือดสูงกว่าและเป็นสารที่ไม่ชอบน้ำ หากสามารถนำไปใช้ผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิงแทนเอทานอลได้ ก็จะทำให้
กระบวนการผลิตง่ายขึ้นและมีประสิทธิภาพดีขึ้น ซึ่งในต่างประเทศกำลังมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวบิวทานอลว่าวิธีการหมักแบบใดที่จะผลิตบิวทานอลได้
มากที่สุด
 
 

 

 

 

 

 

 
 

จัดทำโดย : สำนักงานสารนิเทศ  อาคารจามจุรี 1 ชั้น1
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขตปทุมวัน แขวงวังใหม่
กทม. 10330  โทร. 02-2183364-5  โทรสาร. 02-2154804

ผู้ออกแบบตราสัญญลักษณ์ : นางสาวศุภวรรณ พิพิธสมบัติ เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร
ผู้ออกแบบ/ดูแล : อำนวย หลักสุวรรณ