ประชุมวิชาการระดับชาติขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เรื่อง "พอเพียง โลกเย็น"
 
      
 

           เนื่องในโอกาสครบรอบ ๙๓ ปีแห่ง การสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๓ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จัดการประชุมวิชาการระดับชาติขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เรื่อง "พอเพียง โลกเย็น" เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๓ ณ ห้อง
๒๑๒ อาคารมหิตลาธิเบศร เพื่อสนองพระราช ปณิธานและตามรอยพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวในเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ตลอดจนรวมพลังและศักยภาพของทุกภาคส่วนในมหาวิทยาลัยดำเนินการในเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เผยแพร่สู่ประชาคมจุฬาฯ สังคม และประเทศชาติ

           ในงานมีการบรรยายในหัวข้อ "บทบาทของมหาวิทยาลัยในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" โดย ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา นายกสภามหาวิทยาลัย
"นโยบายของจุฬาฯในการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" โดย ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดี
รวมทั้งมีการบรรยายโดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิของจุฬาฯในสาขาวิชาต่างๆ ดังนี้ "ความรู้ด้านภูมิอากาศเพื่อความพอดีของการพัฒนา" โดย
ผศ.ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลง
ของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
"ความยั่งยืนของพลังงานไทยภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" โดย ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงาน
"พอเพียง โลกเย็น" โดย ผศ.ชาญชัย ลิมปิยากร ผู้อำนวยการอาศรมพลังงาน เขาใหญ่
"พอเพียงกับหมอกควัน" โดย รศ.ดร.ทวีวงศ์ ศรีบุรี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม "งานวิจัยกับความพอเพียง : นาน้อยที่หอยเมิน" โดย
รศ.ดร.อมร เพชรสม ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์
"ความพอเพียงในการใช้พลังงาน" โดย
ศ.ดร.สุนทร บุญญาธิการ ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีอาคาร และสิ่งแวดล้อม
และ "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง :
คุณค่าความหมายและการนำมาปฏิบัติ" โดย แม่ชีวิมุตติยา (รศ.ดร.สุภาพรรณ ณ บางช้าง)

           ทั้งนี้ได้มีการจัดทำหนังสือชุดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ลำดับที่ ๑ พร้อมซีดีซอฟต์แวร์คำนวณการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน
แจกให้แก่ผู้เข้าร่วมการประชุมด้วย ซึ่งมีผู้สนใจและสื่อมวลชนมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก

           ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดี กล่าวถึง "นโยบายของจุฬาฯในการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง"
ว่าที่ผ่านมามหาวิทยาลัยได้สร้างองค์ความรู้ โครงการและกิจกรรมที่เกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในหลากหลายสาขาวิชา
ซึ่งกระจายอยู่ตามหน่วยงานต่างๆ ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิสาขาต่างๆ
มาประชุมระดมสมองในรูปของฟอรัมเพื่อขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยเริ่มจากแผนการดำเนินงานด้านพลังงาน
ซึ่งเป็นที่มาของการประชุมวิชาการระดับชาติ เรื่อง "พอเพียง โลกเย็น" ในครั้งนี้

           อธิการบดี ได้กล่าวถึงตัวอย่างโครงการเพื่อลดภาวะโลกร้อนและแก้วิกฤติพลังงาน ได้แก่ โครงการด้านพลังงานทดแทน
และการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ของวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี (นวัตกรรมผลิตเอทานอลบริสุทธิ์ การจัดการขยะเปลี่ยน
เป็นน้ำมันหรือพลังงานในรูปแบบอื่น) สถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ (การคิดค้น "ดินเผานาโน") สถาบันวิจัยพลังงาน (การผลิตก๊าซชีวภาพ จากขยะเศษอาหาร)

           ในด้านงานวิจัยของจุฬาฯ ซึ่งแบ่งออกเป็น ๗ Clusters เป็นการเชื่อมโยงงานวิจัยเข้ากับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีจำนวน ทั้งสิ้น ๒๐ เรื่อง
เช่น โครงการวิจัย "การพัฒนาผลิตภัณฑ์และความปลอดภัยของอาหาร" ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กับมูลนิธิชัยพัฒนา ฯลฯ

           ในด้านหลักสูตรและการเรียนการสอน มีการเปิดสอนหลักสูตรระดับปริญญาตรีการบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตร
เพื่อสร้างผู้ประกอบการเกษตรใหม่ที่ยังไม่เคยมีในสังคมไทย ในหมวดรายวิชาศึกษาทั่วไปมีรายวิชาที่มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง
รวมถึงหลักสูตรนานาชาติทั้งในระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษาด้วย ในส่วนของวิทยานิพนธ์ของนิสิตระดับ
บัณฑิตศึกษามีเนื้อหาเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโดยตรง รวมทั้งสิ้น ๓๔ เรื่อง

           ด้านกิจกรรมนิสิต มีการสร้างกิจกรรมต่างๆเพื่อให้นิสิตได้นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น โครงการ
กรุงไทยต้นกล้าสีขาว โครงการ Chula SIFE โครงการเฉลียวดิน ฯลฯ

           ในด้านบริการวิชาการ ได้มีการพัฒนางานวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ธรรมชาติวิทยาและวิทยาศาสตร์ ประยุกต์
ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนแถบลุ่มน้ำน่าน และนำผลจากงานวิจัยมาถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้นำชุมชนและเยาวชนในท้องถิ่น
รวมทั้งศูนย์นวัตกรรมเพื่อบริการวิชาการแก่ชุมชนน่าน มีการนำโครงการวิจัยให้บริการแก่ชุมชน

           "จากปัจจุบันจนถึงอนาคตเมื่อจุฬาฯ จะมีอายุครบ ๑๐๐ ปี ในวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๐ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะระดม สรรพกำลังจากทุกภาคส่วน
เพื่อทำให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นมหาวิทยาลัยแห่งความพอเพียง เพื่อดำเนินรอยตามพระยุคลบาท
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้พระราชทานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่ประเทศไทย และได้ทรงตรากตรำพระวรกายเพื่อปฏิบัติ
เป็นแบบอย่างมาตลอดพระชนม์ชีพ" อธิการบดี กล่าวในที่สุด

           ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา นายกสภามหาวิทยาลัย กล่าวถึงเศรษฐกิจพอเพียงว่ามีองค์ประกอบ ๕ ประการ ได้แก่ ๑.ความพอเพียง ความพอดี
ทางสายกลาง ๒.ความถูกต้อง ความมีเหตุผล มีหลักฐาน การใช้ความรู้และเหตุผล และการกระทำเป็นขั้นตอน ๓.ภูมิคุ้มกันต่อความไม่แน่นอนและต่ออนาคต
๔.ความรู้และปัญญา ๕.คุณธรรม จริยธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต ด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มหาวิทยาลัยมีบทบาทหน้าที่ ๖ ประการดังนี้
๑.บทบาทในการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและปรับใช้ในวิชาการด้านต่างๆ
๒.บทบาทในการนำเข้าความรู้และการประเมินเทคโนโลยี ๓.บทบาท ในการวิจัยเพื่อสร้างความรู้ใหม่และทางเลือกใหม่ที่เสริมสร้างความพอเพียง
๔.บทบาทในการจัดการเรียนการสอน และการสร้าง บัณฑิตที่พอดีสำหรับอนาคต
๕.บทบาทในการให้บริการวิชาการที่มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจพอเพียง ๖.บทบาทในการชี้นำ และเป็นผู้นำทางปัญญาในสังคมที่พอเพียง

           นายกสภามหาวิทยาลัยกล่าวทิ้งท้ายว่า การที่จุฬาฯจะดำเนินการในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง จะต้องเริ่มจากการมีความ พอเพียงในจุฬาฯ
มีค่านิยมที่ถูกต้อง ประหยัด ไม่ฟุ้งเฟื้อฟุ่มเฟือย จุฬาฯและมหาวิทยาลัยต่างๆจำเป็นต้องสร้างหลักจริยธรรมใหม่ สำหรับเทคโนโลยีและสังคมใหม่
เศรษฐกิจพอเพียงจะต้องเป็นค่านิยมหลักของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ซึ่งจะเป็นการสนอง
พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้พระราชทานสิ่งนี้เป็นคำตอบให้กับสังคมไทย


 
จุฬาฯ - มูลนิธิชัยพัฒนา ลงนามความร่วมมือพัฒนาผลิตภัณฑ์และความปลอดภัยของอาหาร
 
      
 

           เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ ณ ห้องรับรอง ชั้น ๒ อาคารจามจุรี ๔  ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาฯ และ ดร.สุเมธ
ตันติเวชกุล
กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ
โครงการวิจัย "การพัฒนาผลิตภัณฑ์
และความปลอดภัยของอาหาร"ระหว่าง
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อวิจัยพัฒนาผลผลิตของกลุ่มเกษตรกรภายใต้มูลนิธิ
ชัยพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน มีความปลอดภัย รวมทั้งมีการติดฉลากโภชนาการซึ่งได้รับการวิเคราะห์ตรวจสอบทาง
วิทยาศาสตร์บนบรรจุภัณฑ์ เพื่อเป็นต้นแบบและมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีกระบวนการผลิตสู่เกษตรกรต่อไป

          โครงการวิจัย "การพัฒนาผลิตภัณฑ์และความปลอดภัยของอาหาร" ภายใต้ความร่วมมือระหว่างคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และ มูลนิธิชัยพัฒนา
ประกอบด้วย ๓ โครงการย่อย คือ โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากปลากระพง อาทิ ปลากระพงย่างปรุงรสบรรจุสูญญากาศ ลูกชิ้นแบบญี่ปุ่นจาก
ปลากระพง ฯลฯ ระยะเวลาดำเนินการ ๓ ปี โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากปลานิล อาทิ ปลานิลรมควันร้อน พร้อมบรรจุภัณฑ์ Protein
hydrolysate จากหัวและโครงปลานิล ฯลฯ  ระยะเวลาดำเนินการ ๓ ปี และโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว ได้แก่ ข้าวกึ่งสำเร็จรูปและข้าว
พร้อมรับประทานบรรจุถุงรีทอร์ท ระยะเวลาดำเนินการ ๒ ปี โดยมีภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหารและห้องปฏิบัติการวิจัยและทดสอบอาหาร
คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เป็นหน่วยงานที่วิจัยพัฒนาและตรวจสอบวิเคราะห์


      ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์จากชาวบ้านภายใต้ตรา
ผลิตภัณฑ์มูลนิธิชัยพัฒนา ก่อนที่จะนำออกสู่ตลาดนั้นจำเป็นต้องมีการแปรรูป ผลิตภัณฑ์และผ่านการศึกษาวิจัยในเรื่องการ
ออกแบบบรรจุภัณฑ์ การวางตลาด ซึ่งจะมีส่วนสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ของชาวบ้าน  สมเด็จพระเทพรัตน
ราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี ในฐานะประธานบริหารมูลนิธิชัยพัฒนา มีพระราชกระแสรับสั่งให้จุฬาลงกรณ์
มหาวิทยาลัยดำเนินการในเรื่องนี้ โดย เริ่มต้นที่คณะ วิทยาศาสตร์ ทั้งนี้วัตถุดิบที่เลือกมาพัฒนาแปร รูปผลิตภัณฑ์ ในโครงการ
ความร่วมมือครั้งนี้ ได้แก่ ข้าว ปลากะพง และปลานิล นอกจากนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานเงินสนับสนุนในการติดตั้งเครื่องมืออุปกรณ์เพิ่มเติมในห้องปฏิบัติการที่คณะ
วิทยาศาสตร์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อนิสิตในการใช้ศึกษาวิจัยต่อไป

 

     ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมุ่งสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จ
พระปิยมหาราชและสมเด็จ
พระมหาธีรราชเจ้าในการที่จะเป็น "เสาหลักของแผ่นดิน" โครงการความร่วมมือ
ระหว่างจุฬาฯกับมูลนิธิชัยพัฒนาในครั้งนี้ เป็นการต่อยอดวัตถุดิบต่างๆของชาวบ้าน โดยนำมาแปรรูปและผ่านกระบวนการ
ต่างๆที่ครบวงจร ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ จุฬาฯมีคณะต่างๆที่มีความพร้อมที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ โดยเริ่มต้นจาก
คณะวิทยาศาสตร์ และจะขยายไปยังคณะต่างๆต่อไป ทั้งนี้การต่อยอดวัตถุดิบและสร้างมูลค่าเพิ่มในโครงการนี้ยังสอดคล้อง
กับการที่จุฬาฯได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลในการพัฒนาต่อยอดผลผลิตจากชาวบ้านและงานวิจัยให้เกิดมูลค่าเพิ่ม
ซึ่งดำเนินการที่โครงการพัฒนาที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ.แก่งคอย จ.สระบุร


 

จุฬาฯ ร่วมมือกระทรวงพลังงาน ผลิตก๊าซชีวภาพจากเศษอาหาร ทดแทนการใช้เชื้อเพลิง LPG

 
     

 

     
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสนองนโยบายประหยัดพลังงาน ลดปัญหาโลกร้อนและปัญหาสิ่งแวดล้อม ร่วมมือกับกระทรวงพลังงาน นำขยะเศษอาหาร
จากโรงอาหารหอพักนิสิตจุฬาฯ มาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพสำหรับใช้หุงต้มอาหารที่โรงอาหารหอพักนิสิตจุฬาฯ ได้ปริมาณก๊าซถึงปีละ ๗๕๐๐ ลูกบาศก์เมตร
ทดแทนการใช้เชื้อเพลิง LPG ได้ปีละ ๓,๘๐๐ กิโลกรัม

     เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ ณ หอพักนิสิตชายจุฬาฯ นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน
ในพิธีเปิดระบบก๊าซชีวภาพจากขยะเศษอาหาร "โครงการส่งเสริมเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพเพื่อจัดการของเสียเศษอาหารจาก โรงแรม
และสถานประกอบการต่างๆ"
ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยสถาบันวิจัยพลังงาน และกระทรวงพลังงานโดยสำนักงาน
นโยบายและแผนพลังงาน โดยมี ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดี จุฬาฯ เป็นผู้กล่าวต้อนรับและกล่าวถึงความเป็นมาของโครงการฯ นายวีระพล
จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กล่าวรายงานผลการดำเนินโครงการฯ จากนั้นมีการสาธิตการใช้งานระบบผลิตก๊าซ
ชีวภาพจากขยะเศษอาหาร  ณ โรงอาหารหอพักนิสิตจุฬาฯ


 นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาพลังงานทดแทน ๑๕ ปี
ของกระทรวงพลังงานคือการสนับสนุนให้ภาครัฐและเอกชน รวมทั้งประชาชนทั่วไปผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียในโรงงาน
อุตสาหกรรม ฟาร์ม ปศุสัตว์ และจากเศษอาหาร เพื่อใช้ก๊าซชีวภาพเป็นเชื้อเพลิงทดแทนการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ
กระทรวงพลังงานได้รับความร่วมมือจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยสถาบันวิจัยพลังงานในการเป็นต้นแบบเผยแพร่
องค์ความรู้การผลิตก๊าซชีวภาพจากเศษอาหาร ซึ่งการผลิตก๊าซชีวภาพจากเศษอาหารที่เหลือใช้แล้วที่โรงอาหารหอพักนิสิตจุฬาฯ
จะช่วยกำจัดขยะเศษอาหารในปริมาณ ๒๕๐ กิโลกรัมต่อวัน สามารถนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงหุงต้มอาหารได้วันละ ๒๙ ลูกบาศก์เมตร
คิดเป็นก๊าซ LPG ขนาด ๑๕ กิโลกรัม ได้ ๑ ถัง มูลค่าการประหยัดพลังงานเดือนละ ๑๐,๐๐๐ บาท  

 

   ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า การนำขยะเศษอาหารที่เหลือจากการบริโภค มาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ
ใช้ทดแทนก๊าซหุงต้ม จะช่วยลดค่าใช้จ่ายทางด้านพลังงานเป็นอย่างดี ระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากของเสียเศษอาหารที่โรงอาหาร
หอพักนิสิตเป็นระบบที่ใช้งานได้ง่าย ไม่มีปัญหาเรื่องกลิ่นรบกวน  ปัจจุบันมีการนำมาใช้งานแล้วในร้านอาหารทั้ง ๘ ร้านที่โรง
อาหารหอพักนิสิตจุฬาฯ ในอนาคตหากมีการพัฒนาให้ระบบมีขนาดเล็กลงก็จะเป็นต้นแบบที่สามารถขยายการใช้งานไปสู่คณะ
ต่างๆในจุฬาฯ ช่วยลดมลภาวะจากของเสียเศษอาหารในมหาวิทยาลัย 
   

 

  นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า สำนักงานฯได้เริ่ม
ดำเนินโครงการส่งเสริมเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพในรูปแบบต่างๆมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๘ ส่งผลให้เกิดการผลิตก๊าซชีวภาพ
๓๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี สำหรับโครงการส่งเสริมเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพเพื่อจัดการของเสียเศษอาหารนี้ จุฬาฯเป็น ๑
ใน ๓ สถาบันการศึกษาที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และได้เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่
ปลายปี ๒๕๕๑

 

 


 

นาฏกรรมเฉลิมพระเกียรติ ๘๒ พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ภายใต้แนวคิด "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง"

 
  
 

        จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา
๘๒ พรรษาโดย “คณะนาฏกรรมนานาชาติเพื่อสันติภาพ” ได้จัดการแสดงบัลเล่ต์และโมเดิร์นดานซ์ภายใต้แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาท
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อช่วยเผยแพร่แนวคิดดังกล่าวสู่สาธารณชน มีนิสิตจากภาควิชานาฏยศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เป็นผู้ถ่ายทอดงานศิลปะครั้งนี้โดยได้รับความร่วมมือจากอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ร่วมอ่านบทกวี และพันธมิตรจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพและมหา
วิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาส่งนักศึกษามาร่วมแสดงและร่วมบรรเลงดนตรีไทยด้วย

 
กลับสู่ด้านบน
 
 
 
 

 

 

 

 
 

จัดทำโดย : สำนักงานสารนิเทศ  อาคารจามจุรี 1 ชั้น1
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขตปทุมวัน แขวงวังใหม่
กทม. 10330  โทร. 02-2183364-5  โทรสาร. 02-2154804

ผู้ออกแบบตราสัญญลักษณ์ : นางสาวศุภวรรณ พิพิธสมบัติ เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร
ผู้ออกแบบ/ดูแล : อำนวย หลักสุวรรณ